Stablecoin กับการกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้น
Stablecoin เป็นที่รู้จักในฐานะองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างระบบการเงินแบบดั้งเดิมกับโลกของคริปโทเคอร์เรนซี สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนี้ออกแบบมาให้สามารถคงมูลค่าให้มีความเสถียรเอาไว้ได้ โดยตรึงไว้กับสินทรัพย์ที่ใช้เป็นทุนสำรอง เช่น สกุลเงิน Fiat, สินค้าโภคภัณฑ์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ เมื่อ Stablecoin เป็นที่พูดถึงและได้รับการยอมรับมากขึ้น ก็ได้ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกหันมาใส่ใจ
เนื่องจาก Stablecoin ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับนโยบายการเงิน เสถียรภาพทางการเงิน การคุ้มครองผู้บริโภค และระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานกำกับดูแลจึงดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อมองหาวิธีการเข้ามาควบคุมและกำกับดูแลเซกเตอร์นี้ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว บทความนี้จะพาไปเจาะลึกความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่าง Stablecoin กับความพยายามที่เข้มข้นขึ้นในการเข้ามากำกับดูแล
ทำความเข้าใจกับ Stablecoin
ก่อนที่จะไปดูเรื่องผลกระทบของการเพิ่มการกำกับดูแล สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจพื้นฐานของ Stablecoin กันก่อน สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนี้ให้ข้อดีของ คริปโทเคอร์เรนซี เช่น ความเร็ว ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และการเข้าถึง ในขณะเดียวกันก็ลดความผันผวนที่โดยทั่วไปแล้วมักมากับคริปโทเคอร์เรนซีดั้งเดิม เช่น Bitcoin หรือ Ethereum
Stablecoin มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งประเภทหลักๆ คือ Algorithmic Stablecoin, Stablecoin แบบมีหลักประกัน และโมเดลไฮบริด โดย Stablecoin แบบมีหลักประกันนั้นหนุนหลังโดยสินทรัพย์ที่ใช้เป็นทุนสำรองซึ่งถือโดยผู้ออก เพื่อให้แน่ใจว่ามูลค่าของ Stablecoin จะยังคงผูกอยู่กับหลักประกันที่ใช้อ้างอิง ในทางกลับกัน Algorithmic Stablecoin จะอาศัยอัลกอริทึมในการรักษาเสถียรภาพของราคา โดยปรับอุปสงค์หรืออุปทานของเหรียญตามกฎที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ขณะที่ Stablecoin แบบไฮบริดนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างสมดุลระหว่างเสถียรภาพกับความยืดหยุ่น โดยใช้ทุนสำรองที่เป็นหลักประกันไปพร้อมกับใช้อัลกอริทึมเพื่อปรับลักษณะอุปสงค์และอุปทานของเหรียญให้มีความเหมาะสม
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Stablecoin ได้ที่นี่
ความน่าดึงดูดของ Stablecoin ไม่ได้มีเพียงความสามารถในการให้ความเสถียรเท่านั้น เพราะยังช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีค่าธรรมเนียมต่ำ เป็นอีกทางเลือกสำหรับการเก็บรักษามูลค่าในช่วงที่ตลาดปั่นป่วน และเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้คนในภูมิภาคต่างๆ ที่มีสกุลเงินท้องถิ่นที่ผันผวน นอกจากนี้ Stablecoin ยังทำหน้าที่เป็นประตูให้ผู้คนเปิดเข้าสู่โลกของ Decentralized Finance (DeFi) อีกด้วย ผู้ใช้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของ DeFi ได้ เช่น การให้กู้ยืม การกู้ยืม และ Yield Farming
อย่างไรก็ตาม Stablecoin ก็ใช่ว่าจะไม่มีความท้าทายและความเสี่ยง ประเด็นต่างๆ เช่น ความโปร่งใสของทุนสำรอง ความเสี่ยงจากคู่สัญญา การคุ้มครองผู้บริโภค เสถียรภาพในการตรึงมูลค่า และการปั่นตลาดที่อาจเกิดขึ้น ล้วนทำให้เกิดความกังวลทั้งในหมู่ผู้กำหนดนโยบายและผู้ร่วมตลาด การจัดการกับข้อกังวลเหล่านี้ผ่านการควบคุมกำกับดูแลจึงได้มากลายเป็นความสำคัญเร่งด่วนเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบการเงินในวงกว้างจะมีเสถียรภาพและเป็นธรรม
ความพยายามในการกำกับดูแลที่พุ่งสูงขึ้น
เนื่องจาก Stablecoin เติบโตอย่างรวดเร็วและทวีความสำคัญยิ่งขึ้น รวมทั้งเหตุการณ์ที่ผ่านๆ มา เช่น การล่มสลายของ Terra และ FTX ที่ส่งผลกระทบเป็นระลอกคลื่นต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้างนอกกลุ่ม DeFi ล้วนทำให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาให้ความใส่ใจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ในสหรัฐอเมริกา หน่วยงานกำกับดูแลมีส่วนร่วมอย่างมากในการพูดคุยประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับ Stablecoin หน่วยงานกำกับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสหรัฐ (Commodity Futures Trading Commission: CFTC) ได้แสดงจุดยืนโดยจัดหมวดหมู่ Stablecoin บางเหรียญ เช่น Tether เป็นสินค้าโภคภัณฑ์และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเข้ามาควบคุมกำกับดูแล ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐ (Securities and Exchange Commission: SEC) ก็ได้ติดตามสถานการณ์ Stablecoin อย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาว่าเป็นไปตามนิยามของหลักทรัพย์หรือไม่ ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเพิ่มเติม นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่ Stablecoin อาจมีต่อระบบการเงินและได้เรียกร้องให้มีความชัดเจนและมีมาตรการป้องกันในด้านการกำกับดูแล ขณะที่สมาชิกสภาสหรัฐบางส่วนกำลังพิจารณาออกกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุม Stablecoin
ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้แนวทางที่สอดคล้องกันเพื่อกำกับดูแล Stablecoin โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้เสนอกรอบการกำกับดูแลที่ครอบคลุมซึ่งเรียกว่าข้อบังคับ Markets in Crypto-assets (MiCA) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการสร้างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับผู้ออก Stablecoin เพื่อให้มีความโปร่งใส คุ้มครองนักลงทุน และมีความเป็นธรรมในตลาด นอกจากนี้ยังออกเกณฑ์การออกใบอนุญาตสำหรับผู้ออก Stablecoin ด้วย โดยจะอยู่ภายใต้ข้อกำหนดด้านการกำกับดูแลที่เข้มงวด แนวทางของ EU นั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกันกับทุกฝ่ายและให้มีความมั่นคงแน่นอนทางกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการ Stablecoin ในประเทศสมาชิก
ในระดับสากล หน่วยงานกำกับดูแลกำลังร่วมมือกันเพื่อจัดการกับปัญหาด้านความสามารถในการข้ามพรมแดนของ Stablecoin คณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board: FSB) ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยหน่วยงานกำกับดูแลและธนาคารกลาง ได้ติดตามความเสี่ยงที่ Stablecoin อาจมีต่อเสถียรภาพทางการเงินทั่วโลก ข้อเสนอแนะของ FSB เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการควบคุมและกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (Anti-Money Laundering: AML) และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Combating the Financing of Terrorism: CFT) นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (International Organization of Securities Commissions: IOSCO) ร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ยังมีส่วนร่วมอย่างมากในการพัฒนามาตรฐานสากลสำหรับการกำกับดูแล Stablecoin เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการควบคุมที่สอดคล้องกันทั่วโลก
เหตุผลเบื้องหลังความพยายามในการกำกับดูแล
ความสนใจด้านการกำกับดูแลที่เพิ่มขึ้นและความพยายามในการสร้างกรอบการทำงานที่ครอบคลุมสำหรับ Stablecoin เกิดจากเหตุผลสำคัญหลายประการ เหตุผลเหล่านี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดการปัญหาความท้าทายที่มีลักษณะพิเศษซึ่งเกิดจาก Stablecoin และสร้างหลักประกันในการปกป้องเสถียรภาพทางการเงิน สิทธิผู้บริโภค และอำนาจอธิปไตยทางการเงิน
หน่วยงานกำกับดูแลได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพและการควบคุมทางการเงินที่มาจากรัฐบาลและธนาคารแห่งชาติต่างๆ Stablecoin มีศักยภาพในการเติบโตและมีผู้ใช้งานมาก จึงมีความสามารถในการปฏิวัตินวัตกรรมระบบการเงินแบบดั้งเดิมและส่งผลกระทบต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน เสถียรภาพทางการเงิน และการควบคุมสกุลเงินของประเทศ เมื่อพิจารณาจากความสามารถในการข้ามพรมแดน รวมถึงสถาบันการเงินและผู้ร่วมตลาดต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว ไม่ว่า Stablecoin จะล้มเหลวหรือปฏิวัตินวัตกรรม ก็อาจส่งผลกระทบตามอย่างเป็นระบบได้ การล่มสลายของ Terra และ TerraUSD (UST) ซึ่งเป็น Stablecoin ในปี 2022 นั้นเป็นบทเรียนเตือนใจได้เป็นอย่างดีถึงผลกระทบตามมาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อ Stablecoin และระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องเผชิญกับความล้มเหลว และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงดังกล่าว หน่วยงานกำกับดูแลจึงมีเป้าหมายที่จะใช้กลไกการควบคุม ข้อกำหนดด้านเงินทุน และกรอบการบริหารจัดการความเสี่ยง
แรงผลักดันอีกประการหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความพยายามในการกำกับดูแลคือการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค เนื่องจาก Stablecoin มักใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและเป็นที่เก็บรักษามูลค่า จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องปกป้องสิทธิของผู้บริโภค ความเป็นส่วนตัว และคุ้มครองข้อมูล หน่วยงานกำกับดูแลพยายามสร้างข้อกำหนดด้านความโปร่งใส มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล และกลไกในการจัดการปัญหาการฉ้อโกง การสแกม และภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับ Stablecoin
นอกจากนี้ หากมีการใช้งาน Stablecoin อย่างกว้างขวาง จะทำให้อำนาจอธิปไตยทางการเงินของรัฐบาลตกอยู่ในความเสี่ยง การยอมรับและการใช้งาน Stablecoin ที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอำนาจและการควบคุมของธนาคารกลางในด้านนโยบายการเงิน Stablecoin มีความสามารถในการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและเป็นที่เก็บรักษามูลค่า จึงมีศักยภาพที่จะท้าทายบทบาทดั้งเดิมของธนาคารกลางในการควบคุมและบริหารจัดการสกุลเงินของประเทศ โดยในประเทศที่ Stablecoin ได้รับการยอมรับอย่างมีนัยสำคัญและใช้ทำธุรกรรมกันอย่างแพร่ อาจทำให้ธนาคารกลางมีอิทธิพลและอำนาจควบคุมนโยบายการเงินน้อยลงได้ ธนาคารกลางมีบทบาทสำคัญมาอย่างยาวนานในการควบคุมปริมาณเงิน บริหารจัดการเงินเฟ้อ และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจผ่านการใช้เครื่องมือนโยบายการเงิน แม้ประสิทธิภาพที่แท้จริงของนโยบายดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่การใช้งาน Stablecoin อย่างกว้างขวาง ซึ่งดำเนินการอยู่นอกระบบธนาคารดั้งเดิมและไม่อยู่ภายใต้การควบคุมและการกำกับดูแล อาจทำให้การดำเนินมาตรการนโยบายการเงินเหล่านี้มีประสิทธิภาพลดลงได้
ผลกระทบของการกำกับดูแลที่เพิ่มขึ้น
การเข้มงวดด้านการกำกับดูแล Stablecoin มีผลกระทบรุนแรงต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม ทั้งผู้ออก Stablecoin, ผู้ใช้, สถาบันการเงิน และระบบนิเวศทางการเงินในวงกว้าง
นัยสำคัญประการหนึ่งของการเพิ่มระดับการกำกับดูแลคือจะทำให้กลุ่มประชากรที่ได้รับบริการทางการเงินไม่ทั่วถึง (Underserved) เข้าถึง Stablecoin และบริการทางการเงินได้ยากลำบากขึ้น Stablecoin นั้นมีข้อได้เปรียบที่สำคัญประการหนึ่งคือศักยภาพในการส่งเสริมการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) โดยช่วยให้กลุ่มประชากรที่ไม่ได้รับบริการทางการเงิน (Unbanked) และที่ได้รับบริการทางการเงินไม่ทั่วถึง (Underserved) ได้เข้าถึงการชำระเงินดิจิทัลและบริการทางการเงิน อย่างไรก็ตาม หากข้อกำหนดด้านการกำกับดูแลทำให้ทั้งผู้ออกและผู้ใช้ Stablecoin มีภาระหรือค่าใช้จ่ายมากเกินไป ก็อาจทำให้กลุ่มประชากรชายขอบเข้าถึง Stablecoin ได้ยากลำบากขึ้นและกีดกันผู้ที่มีโอกาสกลายมาเป็นผู้ใช้ ทำให้ไม่สามารถก้าวไปสู่การเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ในระดับที่มากขึ้นได้
ผลกระทบอีกประการหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในภูมิทัศน์การแข่งขัน การกำกับดูแลที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ผู้เล่นรายที่ใหญ่กว่าและเป็นที่ยอมรับมากกว่านั้นได้เปรียบจากการที่มีทรัพยากรและความสามารถในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการกำกับดูแล สิ่งนี้อาจนำไปสู่การกระจุกตัวของอำนาจและการครอบงำตลาด เป็นการกีดกันผู้เล่นรายที่เล็กกว่าและที่มีนวัตกรรมออกไปจากการเข้าสู่ตลาด เนื่องจากต้องดิ้นรนเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามภาระด้านการกำกับดูแลได้ สถานการณ์ดังกล่าวอาจขวางกั้นการแข่งขันและจำกัดผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากระบบนิเวศ Stablecoin ที่หลากหลายและพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง
นอกจากนี้ การกำกับดูแลที่เพิ่มขึ้นอาจก่อให้เกิดอุปสรรคกับการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนและความสามารถในการทำงานร่วมกัน (Interoperability) เนื่องจาก Stablecoin มีศักยภาพในการอำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นการเอาชนะข้อจำกัดของระบบธนาคารดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม หากข้อกำหนดด้านการกำกับดูแลแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทั่วโลก ก็อาจไปขัดขวางความสามารถในการทำงานร่วมกัน (Interoperability) และขัดขวางการเคลื่อนย้าย Stablecoin อย่างราบรื่นทั่วโลกได้ การบรรลุฉันทามติระดับนานาชาติด้านการกำกับดูแล Stablecoin ในฐานะโซลูชันธุรกรรมข้ามพรมแดนจึงเป็นความท้าทายที่น่าหวั่นเกรงอย่างยิ่ง ความยากลำบากนี้เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ รวมกัน ทั้งผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่หลากหลายในประเทศต่างๆ โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ และความแข็งแกร่งที่มีมาอย่างยาวนานของระบบการโอนเงินระหว่างประเทศที่มีอยู่ เช่น SWIFT
สุดท้าย การเข้มงวดด้านการกำกับดูแลอาจขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของคริปโตและ Stablecoin หลักการดั้งเดิมที่สนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้คือระบบกระจายศูนย์ ความเป็นส่วนตัว และการตัดตัวกลางออก หลักการเหล่านี้อาจขัดแย้งกับความจำเป็นในการควบคุมกำกับดูแลและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ การสร้างสมดุลระหว่างการรักษาไว้ซึ่งค่านิยมหลักของคริปโตกับการสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติตามกฎระเบียบจะก่อให้เกิดความท้าทายที่ละเอียดอ่อนสำหรับทั้งหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ที่มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรม
แนวโน้มและข้อสรุป
ภูมิทัศน์ด้านการกำกับดูแล Stablecoin กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันรัฐบาลทั่วโลกก็ต่อสู้กับความท้าทายที่เกิดจากสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนี้ หน่วยงานกำกับดูแลมีส่วนร่วมอย่างมากในการพูดคุย โดยพยายามสร้างกรอบการทำงานที่ครอบคลุมซึ่งจัดการปัญหาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพ การคุ้มครองนักลงทุน และอำนาจอธิปไตยทางการเงิน แม้จะตั้งเป้าสร้างภูมิทัศน์ด้านการกำกับดูแล Stablecoin ที่แข็งแกร่ง แต่การสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างนวัตกรรมกับการกำกับดูแลก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากการกำกับดูแลที่เป็นภาระมากเกินไปอาจยับยั้งนวัตกรรมและขัดขวางการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีอนาคตนี้ได้
นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลต้องรับรู้ถึงผลประโยชน์ที่อาจได้จากการใช้งาน Stablecoin ด้วย เช่น การเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ในระดับที่มากขึ้นและประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน อันที่จริง รัฐบาลบางแห่งกำลังเปิดรับความเป็นไปได้ที่เกิดจากการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลและสำรวจแนวทางพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) อย่างมากเพื่อเป็นทางเลือกที่มีการกำกับดูแลแทนที่ Stablecoin โดย CBDC จะทำให้มีตัวเลือกสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับการควบคุมและกำกับดูแล ซึ่งจะมาพร้อมข้อดีของ Stablecoin ที่ได้รับการควบคุมและอำนาจของธนาคารกลาง ในขณะนี้ 11 ประเทศ ได้ออก CBDC ของตนเองอย่างเป็นทางการแล้ว ได้แก่ ไนจีเรีย จาเมกา บาฮามาส แองกวิลลา เซนต์คิตส์และเนวิส มอนต์เซอร์รัต แอนทีกาและบาร์บิวดา ดอมินีกา เซนต์ลูเชีย กรีเนดา และเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์
จีนกำลังใช้มาตรการเชิงรุกในการพัฒนาและส่งเสริมสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ของตนเองที่เรียกว่าหยวนดิจิทัลหรือ e-CNY เงินหยวนดิจิทัลนี้ได้รับการพูดถึงอย่างมีนัยสำคัญและถูกนำไปใช้ในภาคส่วนต่างๆ ทั้งการค้าปลีก การขนส่ง และการจ่ายค่าจ้างสำหรับพนักงานของรัฐ นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนร่วมอย่างมากกับรัฐบาลอื่นๆ ในการสำรวจความเป็นไปได้ที่จะสร้างระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนที่ขับเคลื่อนโดย e-CNY หากต้องการอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ e-CNY และผลกระทบต่อตลาดคริปโต โปรดคลิกที่นี่
โดยสรุป การเข้มงวดด้านการกำกับดูแล Stablecoin สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ มีการรับรู้มากขึ้นว่าจำเป็นที่จะต้องจัดการปัญหาความท้าทายที่มีลักษณะพิเศษและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนี้ คงไม่ต้องบอกว่าควรดำเนินการด้วยความระมัดระวังหากจะนำ CBDC มาใช้และเพิ่มระดับการกำกับดูแล สิ่งสำคัญสำหรับหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ที่มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรม และผู้กำหนดนโยบายคือการทำงานร่วมกันและสร้างสมดุลที่ส่งเสริมนวัตกรรม ทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีเสถียรภาพทางการเงิน และสนับสนุนระบบการเงินที่ทั่วถึงและยั่งยืน
ข้อสงวนสิทธิ์ ความคิดเห็นที่อยู่ในบทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น บทความนี้ไม่ใช่การสนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการใดๆ ที่ได้มีการเอ่ยถึง รวมถึงไม่ใช่คำแนะนำด้านการลงทุน การเงิน หรือการเทรด ผู้ใช้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการรับรองก่อนตัดสินใจลงทุน
- วิธีถอนโทเค็น CATS จาก Telegram แล้วฝากเข้า Bitget2024-10-01 | 5m
- ฝาก CATI เข้า Bitget ไร้ค่า Gas2024-09-14 | 5m
- Orderly Network (ORDER): พรมแดนใหม่แห่งการเทรดแบบกระจายศูนย์2024-08-27 | 5m